สวัสดีครับชาว EF SOCIETY ทุกท่าน กลับมาพบกันอีกครั้ง วันนี้ผมจะมาพูดถึงการตรวจจับมาร์คบนบรรจุภัณฑ์กันครับ ปัจจัย 4 ของมนุษย์ หนึ่งในนั้นคืออาหารครับ ซึ่งอาหารก็จะต้องมีบรรจุภัณฑ์เพื่อใช้ใส่อาหาร เพื่อความสะดวกในการเก็บรักษา หรือเพื่อความสะอาด บรรจุภัณฑ์ต่างๆ ก็จะมีสีสันแตกต่างกันไปแล้วแต่ยี่ห้อ เพื่อความสวยงามและเพื่อเป็นเอกลัษณ์ของสินค้าแต่ละยี่ห้อ
เมื่อบรรจุภัณฑ์มีสีสันหลากหลาย ความลำบากก็จะมาตกอยู่ที่กระบวนการบรรจุครับ เนื่องจากว่าในการแพ็คสินค้าแต่ละชิ้นนั้นจะต้องมีเซ็นเซอร์เพื่อมาตรวจจับว่าตำแหน่งไหนควรที่จะทำการแพ็ค เนื่องจากบรรจุภัณฑ์ก่อนที่จะมาเป็นซองนั้นจะเป็นฟิล์มที่มาในลักษณะม้วนๆ และอาจมีหลายสีครับ
จากรูปเป็นตัวอย่างฟิล์ม จะเห็นว่าตัวฟิล์มนั้นมีหลายสี ซึ่งสีของฟิล์มและมาร์คนั้นมีผลต่อการมองเห็นของเซ็นเซอร์ ตามตารางตัวอย่างนี้ครับ
จากตาราง ผมจะขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดขึ้นครับ เช่น ถ้าฟิล์มสีเขียวมาร์คบนฟิล์มสีแดง เราสามารถใช้แสงในการตรวจจับเป็นสีแดงได้ แต่ถ้าเกิดฟิล์มเป็นสีน้ำเงินแล้วมาร์คเป็นสีดำจะไม่สามารถใช้แสงสีแดงในการตรวจจับได้จะต้องใช้เป็นแสงสีน้ำเงินในการตรวจจับ ทีนี้ถ้าเซ็นเซอร์ที่มีอยู่มีแสงในการตรวจจับอยู่สีเดียวก็งานเข้ากันละครับ อาจจะต้องถึงกับเปลี่ยนเซ็นเซอร์ที่มีอยู่ซึ่งเป็นแสงสีน้ำเงิน ทำให้เกิดความยุ่งยากและลำบากในการใช้งาน
ทุกปัญหามีทางออกครับ เราก็เลือกเซ็นเซอร์ที่สามารถสร้างสีในการตรวจจับที่หลากหลายได้ในตัวเดียวซึ่งจะช่วยให้ง่ายและรวดเร็วในการตรวจจับมาร์คครับ (แสงสีแดง เขียว น้ำเงิน)จากรูปจะเป็นเซ็นเซอร์ที่สามารถสร้างสีของแสงในการตรวจจับได้ถึง 3 สี ในตัวเดียว (แดง เขียว น้ำเงิน) ซึ่งเซ็นเซอร์ตัวนี้จะมีระยะการตรวจจับที่ 10 มิลลิเมตร +/- 3 มิลลิเมตร และมีลำแสงทั้งแนวตั้งและแนวนอนเพื่อความสะดวกในการติดตั้ง
ส่วนการใช้งานก็ง่ายครับ โดยเราสามารถเซ็ตค่าได้โดยกดปุ่ม + (DYNAMIC) แช่ไว้และให้เครื่องจักรเดินงานประมาณ 5-10 วินาที ทีนี้เซ็นเซอร์ก็จะเลือกแสงในการตรวจจับให้โดยอัตโนมัติ เท่านี้ก็จะสามารถตรวจจับ Color Mark ได้อย่างง่ายดายครับ
ทาง EF SOCIETY หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ให้กับผู้อ่านไม่มากก็น้อยนะครับ วันนี้ขอลาไปก่อน พบกันใหม่ครั้งหน้าสวัสดีครับ