วันนี้เราจะมาพูดถึงอุปกรณ์ตัวเล็กๆ ที่อยู่ในตู้ควบคุม แต่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าอุปกรณ์ตัวใหญ่ๆ เลยทีเดียว นั้นก็คือขั้วต่อสายหรือเทอร์มินอลบล็อก (Terminal Blocks) เพราะหากเราติดตั้งอุปกรณ์เทอร์มินอลไม่เหมาะสมอาจทำให้อุปกรณ์ที่สำคัญในตู้เสียหายได้
พูดถึงตู้ควบคุมคิดว่าหลายๆ ท่านคงเคยประสบปัญหาตู้ควบคุมไหม้ โดยไม่ทราบสาเหตุอาจเนื่องมาจากกระแสไฟฟ้าลัดวงจร (Short Circuit) เมื่อตรวจสอบดู นอกจากจะพบรอยไหม้ที่สายไฟแล้วส่วนใหญ่ก็จะพบรอยไหม้ที่ขั้วต่อสายหรือเทอร์มินอลบล็อกด้วย
เทอร์มินอลบล็อกคืออะไรและสำคัญอย่างไร?
เทอร์มินอลบล็อกหรือที่เรียกกันสั้นๆ จนติดปากว่า “เทอร์มินอล” คืออุปกรณ์ที่ใช้ในการเชื่อมต่อสายไฟในตู้ควบคุม กล่องต่อสายหรือตามจุดต่างๆ ที่ต้องการ เพื่อรับไฟจากแหล่งจ่ายไฟไปยังอุปกรณ์ต่างๆ ภายในตู้ รวมถึงเป็นจุดต่อร่วมของสายไฟโดยที่ไม่ต้องไปต่อสายรวมกันที่ขั้วต่อของอุปกรณ์ ซึ่งเป็นสาเหตุของขั้วหลวมและเกิดการอาร์กได้
ข้อดีของการใช้เทอร์มินอลบล็อก
- ลดปัญหาการเดินสายผิด
- ตรวจสอบและแก้ไขระบบได้ง่าย
- ปลอดภัยจากการต่อสาย
- ลดน้ำหนักสายที่ไปรั้งอุปกรณ์
- ง่ายต่อการซ่อมบำรุง
ทำไมต้องใช้เทอร์มินอลบล็อก?
ท่านที่เคยเดินสายไฟตู้ควบคุมคงเห็นด้วยนะครับว่าหากเราเดินสายภายในตู้ควบคุมโดยไม่มี terminal blocks หากเป็นตู้เล็กๆ ที่มีสายไฟไม่เยอะก็ไม่เป็นไร แต่เมื่อตู้ควบคุมมีสายไฟเยอะขึ้น อุปกรณ์เยอะขึ้น ถ้าไม่มี terminal blocks คงแย่แน่นอนเพราะถ้าหากเราต้องการตรวจสอบความถูกต้องในการเดินสายหรือต้องการถอดสายเพื่อปลดอุปกรณ์ไปซ่อมแซ่มแทบเรียกได้ว่าต้องรื้อสายในตู้ใหม่ ไล่วงจรกันใหม่เลยทีเดียว
แต่ถ้าเราติดตั้ง terminal block และ mark ปลายสายไฟด้วยเวลาเราถอดสายและถอดอุปกรณ์ออก เมื่อนำอุปกรณ์กลับมาติดตั้งใหม่ รวมถึงการตรวจสอบ เราสามารถที่จะตรวจสอบได้ถูกต้อง ง่ายและรวดเร็วอย่างมากเลยทีเดียว
เลือกเทอร์มินอลบล็อกอย่างไรดี?
- วัสดุที่ใช้ทำเทอร์มินอลบล็อกส่วนใหญ่จะผลิตจากเทอร์โมพลาสติก โพลีอาไมด์ (Polyamide 66 หรือ Polyamide 66/6 แตกต่างกันตามผู้ผลิต) มีคุณสมบัติแข็งแรงและทนความร้อนได้ค่อนข้างสูง
- ไม่ลามไฟ คุณภาพของวัสดุที่ใช้มีผลต่อการลามไฟ ถึงแม้จะเป็นโพลีอาร์ไมด์เหมือนกันควรได้รับมาตรฐาน UL 94 เป็นมาตรฐานการทดสอบการลามไฟ ซึ่งมีระดับความแตกต่างดังนี้
- UL 94-V0 สามารถดับเปลวไฟดัวยตัวเอง ภายใน 10 วินาที ไม่เป็นหยดไฟ
- UL 94-V1 สามารถดับเปลวไฟดัวยตัวเอง ภายใน 30 วินาที ไม่เป็นหยดไฟ
- UL 94-V2 สามารถดับเปลวไฟดัวยตัวเอง ภายใน 30 วินาที แต่อาจมีหยดไฟได้
ดังนั้น หากเลือกเทอร์มินอลบล็อกที่ได้รับมาตรฐาน UL94-V0 ถือได้ว่าปลอดภัยจากการลามไฟมากที่สุด
3. กระแสไฟที่สามารถรองรับได้ส่วนใหญ่จะสัมพันธ์กับขนาดของเทอร์มินอล คือยิ่งมีขนาดใหญ่ก็สามารถรองรับกระแสได้มากขึ้นตามขนาดของสายไฟที่นำมาต่อ
4. แรงดันไฟฟ้าที่สามารถรองรับได้ เช่น 800VAC 1000VDC ขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งาน
5. Conductor Bar ควรทำจาก Copper Alloy เป็นตัวนำไฟฟ้าที่ดี
6. แคลมป์รัดสายไฟควรเป็นเหล็กชุบกันสนิม เพื่อความแข็งแรงในการรัดสายไฟ โดยไม่คลายภายหลัง
7. การเลือกให้เหมาะสมกับชนิดและขนาดของสายไฟ เช่น เป็นสายไฟชนิดอ่อนหรือแข็ง มีขนาดกี่ตารางมิลลิเมตร
8. สถานที่ติดตั้งและลักษณะการใช้งาน
- หากเป็นสถานที่ทั่วไป ควรใช้แบบสกรู (Screw Connection) ก็เพียงพอ
- หากเป็นสถานที่ที่มีการสั่นไหวหรือต้องการความมั่นใจในความแน่นของขั้วต่อสายเพื่อความปลอดภัย เช่น ในงานระบบโซลาร์ (PV System) งานปิโตรเคมีหรืองานระบบควบคุมของการไฟฟ้าฯ ควรใช้แบบสปริงแคลมป์ (Spring Clamp Connection) ราคาอาจจะสูงกว่าแบบสกรู แต่ว่ามั่นใจว่าขั้วต่อสายแน่น สายไม่หลุดแน่นอน
อื่นๆ สำหรับเทอร์มินอลบล็อก
- หากเข้าสายด้วย Ferrule หรือหางปลาก่อน จะทำให้การยึดสายไม่คลายตัวให้การเข้าสายแน่นยิ่งขึ้น
- สีและรูปแบบการใช้งาน เทอร์มินอลบล็อกมีสีมาตรฐานเพื่อการใช้งานทั่วไปและมีให้เลือกใช้ตามผู้ผลิต