
ในปี 2554 นี้ หนึ่งในกลุ่มเศรษฐกิจที่เติบโตไวที่สุดในไทยก็คือ กลุ่มเศรษฐกิจชอปปิ้งเซ็นเตอร์ ซึ่งในรอบ 10 ปีที่ผ่านมานี้ มีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็ว มีการสร้างแลนด์มาร์คชอปปิ้งเซ็นเตอร์ใหม่ๆ อีกจำนวนมาก ซึ่งอันดับหนึ่งคงหนีไม่พ้นเครือเซ็นทรัล ในส่วนของเซ็นทรัลพัฒนา ที่มีการสร้างชอปปิ้งมอลล์ใหม่ๆ มากกว่ารายอื่นในกลุ่มธุรกิจ เช่น เซ็นทรัลพลาซ่าแจ้งวัฒนะ เซ็นทรัลพัทยา ฯลฯ และยังมีโปรเจคใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น รวมทั้งการรีโนเวทเซ็นทรัลลาดพร้าว การสร้างเซ็นทรัลพลาซ่าพระรามเก้า และยังมีโครงการอื่นๆ ที่มีแผนการพัฒนาทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด โดยมีแห่งหนึ่งที่ถูกจับตามองอย่างมากนั่นคือ Central Embassy ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นที่ดินที่มีการซื้อขายต่อตารางวาแพงที่สุด ซึ่งจะถูกพัฒนาเป็นแหล่งชอปปิ้งที่หรูที่สุดในไทย แต่ก็ยังมีโครงการอื่นๆ โดยเฉพาะที่ก่อตั้งโดยเครือสยามฟิวเจอร์และเครืออื่นๆ ที่เป็นคอนเซปต์คอมมิวนิตี้มอลล์ และเครือคริสตัลปาร์คและคริสตัลดีไซน์เซ็นเตอร์(CDC) ที่เป็นคอนเซ็ปต์ใหม่ในการขายอุปกรณ์แต่งบ้านและเฟอร์นิเจอร์ รวมถึงขณะนี้ยังมีการพัฒนาชอปปิ้งมอลล์หลายแห่งในพื้นที่โซนบางนา-ตราด ที่จะมี IKEA เป็นจุดโดดเด่นของโครงการและชอปปิ้งมอลล์ของคนจีนอยู่ด้วย ในนิตยสารเพื่อนวิศวกรฉบับนี้จะแนะนำถึงเบื้องหลังของความสำเร็จของผู้ออกแบบและผู้รับเหมาที่ทำให้โครงการเหล่านี้เป็นจริงขึ้นมา โดยที่เรามุ่งเน้นไปที่งานวิศวกรรมระบบโดยเฉพาะ (Mechanical & Electrical)
แน่นอนว่าเบื้องหลังความสำเร็จเหล่านี้ต้องมีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในด้านการออกแบบและก่อสร้างที่รับอุดมการณ์จากทางเจ้าของโครงการมาทำให้สำเร็จลุล่วงตามความคาดหมาย เรามาดูกลุ่มคนที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จเหล่านี้กันดีกว่า
กลุ่มแรก คือ สถาปนิกที่เขียนแบบและคอนเซ็ปต์ตามอุดมการณ์ของเจ้าของโครงการ แล้วนำไปออกแบบให้เป็นรูปเป็นร่าง เมื่อมีแบบแผนของโครงการเรียบร้อยแล้ว ทางกลุ่มผู้ออกแบบอื่นๆ จึงจะเข้ามามีส่วนร่วมเช่น ผู้ออกแบบโครงสร้าง และกลุ่มกลุ่มผู้ออกแบบงานระบบ เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่แล้วผู้ออกแบบงานระบบในกลุ่มชอปปิ้งเซ็นเตอร์ก็หนีไม่พ้น MITR Technology Consultant , EEC Engineering Network, Aurecon, Meinhardt, และ W.associate ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบชอปปิ้งเซ็นเตอร์
เมื่อออกแบบเสร็จแล้ว กลุ่มผู้รับเหมาก็จะมารับงานต่อ ที่เป็นผู้ลงแรงและลงมือก่อสร้างและติดตั้งโครงการ ซึ่งจะมีผู้รับเหมารายใหญ่ที่แยกงานออกเป็นส่วนๆ ให้กับผู้รับเหมารายย่อยที่ชำนาญเฉพาะทางดูแลต่อ ซึ่งไม่เว้นที่จะมีผู้รับเหมาระบบ หรือ ที่เรียกว่า Mechanical and Electrical (M&E) Contractor ซึ่งในวงการชอปปิ้ง ระดับที่กล่าวมามักจะเป็น Jadine Engineering, Power Line Engineering, First Technology, Citi Power, Elmec และ Taikicha นั่นเอง ซึ่งบริษัทเหล่านี้จำเป็นต้องซื้อวัตถุดิบและอุปกรณ์กึ่งสำเร็จรูป เช่น ตู้ไฟที่ผลิตสำเร็จแล้วจากทางผู้ผลิตโดยเฉพาะ ที่เรียกกันว่า Panel Maker นั่นเอง ซึ่งในไทยก็จะมีผู้เชี่ยวชาญอย่าง Asefa และ TIC คอยรองรับอยู่ เป็นต้น
Panel Maker มักจะสร้างตู้ไฟระบบตามแบบที่ทางผู้ออกแบบได้เขียนขึ้นมาแล้วนำไปส่งให้ผู้รับเหมาระบบนำเข้าไปติดตั้งในโครงการ ซึ่งกระบวนการนี้จะมีคนกลุ่มหนึ่งที่ทางเจ้าของโครงการจ้างมาเพื่อที่จะควบคุมความเรียบร้อยของงาน ที่เรียกกันว่า Consultant นั่นเอง
เป็นที่สังเกตว่าในแต่ละโครงการจะมีผู้เกี่ยวข้องทำงานร่วมกันจำนวนมาก ซึ่งเป็นขั้นตอนที่มีความสลับซับซ้อน แต่ละคนจะมีความเชี่ยวชาญต่างกัน ซึ่งจำเป็นต้องทำงานร่วมกันเป็นทีมเพื่อให้โครงการสำเร็จลุล่วงได้ ซึ่งในแต่ละ Mega Project ในไทยล้วนแล้วแต่ต้องมีทีมทำงานที่ดีจึงจะทำให้อุดมการณ์ของเจ้าของโครงการสำเร็จลุล่วงเป็นความจริงได้